วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 9 ( วิธีคิดของหลวงพ่อ จับผิดตนเองเข้าใจตนเอง เข้าใจโลก )

หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๙)



หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๙)



     การที่จะหาคนสักคนที่มีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ว่ายากแล้ว แต่หากจะหาคนสองคนที่คิดเช่นนั้นยากยิ่งกว่า นับประสาอะไรจะคิดถึงว่าหาคนสักร้อยคน พันคนให้มีความคิดแบบนี้ คงจะยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรกระมัง



     แต่ไม่น่าเชื่อว่าในยุคสมัยที่ผู้คนละเลยในศีลธรรมนั้น กลับมีผู้คนเรือนล้านที่ยังมีความคิดที่อยากจะสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในโลก โดยจุดเริ่มต้นจากเด็กหนุ่มนักเรียนสวนกุหลาบที่ใฝ่ธรรมะ



     ย้อนหลังไปเมื่อปี ๒๕๑๒ จากเด็กหนุ่มในรั้วมหาวิทยาลัย นายไชยบูลย์ สุทธิผล หรือหลวงพ่อธัมมชโยในวันนี้ ได้ก้าวเข้าสู่ร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา และอุทิศตนเพื่อเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดมา



     จากหลวงพ่อเพียงหนึ่งรูป ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้คนเรือนล้าน ในการที่จะตั้งใจทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา

     จากหลวงพ่อเพียงหนึ่งรูป ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับคนหนุ่มคนสาวหลายพัน ที่กล้าจะสละชีวิตทางโลก มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา ช่วยงานพระศาสนา

     จากหลวงพ่อเพียงหนึ่งรูป ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับบุรุษอีกหลายพันคน ให้กล้าที่จะประกาศตนบวชอุทิศชีวิต มุ่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา



     พวกเราอาจมีเหตุผลที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ในการที่รัก เคารพหลวงพ่อ จนก้าวเข้ามาในเส้นทางของการสร้างบารมีโดยมีหลวงพ่อเป็นผู้นำ สำหรับอาตมาแล้ว

“ วิธีคิดของหลวงพ่อ ”

คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ก้าวเข้ามาสู้เส้นทางนี้โดยไม่ลังเล นอกจากจะปราศจากความสงสัยแล้ว ยังพร้อมที่จะก้าวไป แม้หนทางข้างหน้าจะลำบากแค่ไหนก็ตาม

     ทำไมอาตมาจึงประทับใจในแนวคิดของท่าน จะยกตัวอย่างให้พวกเราดูสักนิด



๑. ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด 

สิ่งแรกที่ท่านตั้งคำถามคือ ทำไมคนไม่เข้าวัด ?

- หากเป็นคนทั่วไป ก็จะบอกว่า เพราะคนไม่มีศีลธรรมบ้าง เพราะคนไม่สนใจธรรมะบ้าง เพราะคนไม่มีเวลาบ้าง ฯลฯ

- แต่ความคิดของหลวงพ่อคือ ที่คนไม่เข้าวัด เพราะวัดไม่น่าเข้า

     อาตมาเคยถามหลวงพ่อทัตตชีโวว่า ทำไมหลวงพ่อท่านจึงคิดอย่างนั้น หลวงพ่อท่านก็เมตตาอธิบายว่า

“ ระหว่างคนที่มีอะไรเกิดขึ้น เอะอะก็โทษแต่คนอื่น กับคนที่มีอะไรเกิดขึ้นจะหันมาพิจารณาตนเอง ความคิดจะต่างกัน ”

     ตอนนั้นอาตมาบวชใหม่ ๆ ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ฟังแล้วก็ตามไม่ทัน ต้องขอให้หลวงพ่อท่านอธิบายเพิ่มเติม

“ คนที่โทษแต่ชาวบ้าน จะไม่คิดปรับปรุง แก้ไขอะไร เพราะมองว่าเป็นความผิดของผู้อื่น แต่สำหรับคนที่หาแต่ข้อบกพร่องของตนเอง จะคิดพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข ตนเองอยู่ตลอดเวลา ”

๒. แม้ในยามที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษ (เช่นในปัจจุบัน)

- หากเป็นคนทั่วไป ก็จะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ โอดครวญว่า ฉันตั้งใจทำความดี ทุ่มเทขนาดนี้ ทำไมยังถูกคนไม่เข้าใจ พอกันที วางมือดีกว่า

- แต่สำหรับหลวงพ่อแล้ว ท่านกลับคิดไปอีกแง่หนึ่ง ท่านเคยกล่าวไว้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วว่า

“ อย่าเสียเวลา คิดโน่นนี่ เอาเวลาไปทำงานดีกว่า ตราบใดที่เขายังไม่เข้าใจเรา แสดงว่าเรายังทำงานไม่เต็มที่ หากเราทำงานได้สมบูรณ์แบบ ทุกคนต้องเข้าใจเรา ”


     เพราะความคิดและมุมมองของหลวงพ่อเป็นอย่างนี้ แนวคิดและวิธีการทำงานจึงถูกถ่ายทอดมาสู่ลูก ๆ ในองค์กร ทำให้เราไม่เสียเวลาไปจับผิดใคร แต่เอาเวลานั้นมาจับผิดตัวเอง แก้ไขตัวเองดีกว่า เพราะเราถือคติว่า 

    เมื่อเข้าใจตนเองได้แล้ว เราก็สามารถเข้าใจคนทั้งโลกได้ 






ขอขอบคุณภาพจาก dmc.tv และ google.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๓ ก.ค. ๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น