วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 63 (ฝึกโยมให้รู้จักคิด)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๖๓) ฝึกโยมให้รู้จักคิด



หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๖๓)

ฝึกโยมให้รู้จักคิด


     ด้วยมโนปณิธานในการสร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดี หลวงพ่อทั้งสองจึงเพียรทำทุกวิถีทางเพื่อพัฒนาบุคลากรของพระพุทธศาสนา ให้มีคุณภาพและเป็นต้นแบบคนดีที่โลกต้องการ


     เมื่อไปขยายงานที่ต่างประเทศ หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านได้ตอกย้ำให้กับลูก ๆ ว่า

     “ ญาติโยมของเราที่มาวัด อย่าให้เขามาแล้วเสียประโยชน์ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เขามาแล้วได้อะไร อย่าลืมว่า กว่าเขาจะมาถึงวัดของเราได้ เขาก็ผ่านวัดโน้นวัดนี้ ผ่านร้านค้า ผ่านสถานที่อะไรสารพัด แต่เขาก็มุ่งตรงมาที่เรา เพราะเขาคิดว่าถ้ามาที่นี่แล้วเขาจะต้องได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น อะไรที่จะฝึกคนของเราได้ ให้ทำเข้าไป ”


     อาตมาจำได้ดีว่า เมื่อหลวงพ่อได้ตรองคำสอน คำแนะนำของคุณยายได้ แล้วท่านเอามาปรับให้เป็นความดีสากล หลวงพ่อรีบโทรมาเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจว่า 

     “ หลวงพ่อพบวิธีฝึกคนจากคำสอนของยายแล้ว ฟังมาตั้งนาน เพิ่งมาเข้าใจว่าแท้จริงที่ยายคอยย้ำอยู่ตลอด มันคือบทฝึกในชีวิตประจำวัน เมื่อตอนที่พบห้าห้อง หลวงพ่อก็ดีใจ แต่วันนี้พบความดีสากล หลวงพ่อเห็นทางในการพัฒนาคนโดยเอาความดีสากลมาทำในห้าห้องนี่แหละ ”


     แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เมื่ออาตมาและทีมงานที่วัด ได้นำเอาความดีสากลมาใช้ในการอบรมธรรมทายาท ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจยิ่งกว่ารุ่นก่อน ๆ และเป็นการประเมินได้จากผู้ปกครองของธรรมทายาทด้วยว่า เด็ก ๆ ได้นำเอาความดีสากลกลับไปทำที่บ้าน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว เมื่อรายงานเรื่องนี้ให้หลวงพ่อท่านทราบ ท่านก็ให้งานต่อว่า

     “ ความดีสากลออกฤทธิ์แล้ว ให้ไปขยายผลต่อ ทำไงหล่ะ ก็รวมกลุ่มกัลยาณมิตรของเรานี่แหละ ให้เวียนกันไปทำตามบ้านโน้นบ้านนี้ ไม่ต้องทำทั้งหลัง อาจจะแค่ห้องใดห้องหนึ่งก่อน ให้เป็นกิจกรรมร่วมกัน แล้วจะเกิดผลดีต่อหมู่คณะ ”


     นอกจากเรื่องความดีสากลแล้ว หลวงพ่อยังให้ฝึกญาติโยมให้รู้จักคิดและประชุมกลุ่ม โดยท่านได้วางระบบเป็นขั้น ๆ ให้ กล่าวคือ 

     “ ให้แบ่งโยมเป็นกลุ่ม ๆ ให้เขาคัดเลือกกันในกลุ่มว่าใครจะเป็นประธานกลุ่ม ใครจะเป็นเลขาคอยบันทึก และใครจะเป็นผู้ออกมารายงาน จากนั้นให้คัดคนที่อ่านเสียงดัง ฟังชัด ฉะฉาน มาอ่านธรรมะที่คัดไว้ เมื่ออ่านจบ ให้แต่ละกลุ่มประชุมกัน กำหนดหัวข้อให้ ๑.​ได้ข้อคิดอะไรจากการฟังธรรมะเรื่องนี้ ๒. ประทับใจอะไรจากเรื่องนี้ ๓. พบข้อบกพร่องของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ๔. ข้อบกพร่องนั้นเกิดจากอะไร ๕. จะแก้ไขข้อบกพร่องนั้นอย่างไร 

     หากทำอย่างนี้บ่อย ๆ คนของเราจะมีคุณภาพ คิดเป็น สรุปเป็น กล้าพูด ประชุมเป็น ให้ตั้งใจฝึกคนของเราเข้าไป ”


     จากหลักที่หลวงพ่อได้ให้ไว้ ทำให้เกิดการตื่นตัวและตั้งใจในการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่เพียงแต่โยมจะคิดเป็น พูดเป็น และกล้าแสดงออกเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้เกินคาด คือ ทำให้โยมเกิดความคุ้นเคยกันยิ่งขึ้น




ขอขอบคุณภาพจากgoogle.com และ dmc.tv
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๕ ก.ย. ๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น