วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 39 (กล้าบอกความผิดพลาด)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๓๙) กล้าบอกความผิดพลาด




หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๓๙)

กล้าบอกความผิดพลาด



     ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเกิดจากองค์ประกอบหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ การที่ผู้นำหรือพระบรมศาสดา กล้าที่จะเอาความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของพระองค์มาถ่ายทอดให้พุทธบริษัทได้รับรู้ เพื่อจะได้ไม่พลาดพลั้งไปกระทำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องที่หาได้ยากในผู้นำหรือศาสดาท่านอื่น ๆ

     พระองค์ได้ตรัสเล่าถึงบุพกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงกรรมและกฎแห่งกรรม ทำให้พุทธบริษัทเกิดความหวาดกลัวต่อการที่จะกระทำความชั่ว ยกตัวอย่างเช่น 

     - บางชาติพระองค์เคยเป็นนักเลง ไปกล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้า ในชาติสุดท้ายจึงถูกนางสุนทรีกล่าวตู่บ้าง

     - บางชาติได้ฆ่าน้องชายต่างมารดา เพราะโลภอยากได้สมบัติจึงจับใส่ลงในซอกเขาแล้วทับด้วยหิน ด้วยผลกรรมนั้นทำให้พระเทวทัตผลักก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วเท้าจนห้อเลือด

     - บางชาติได้เป็นเด็กลูกของชาวประมงในบ้านเกวัฏฏคาม เห็นผู้คนเขาฆ่าปลา เกิดความดีอกดีใจไปกับเขาด้วย ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ทำให้ปวดศีรษะ

ฯลฯ



     หลวงพ่อทั้งสองท่านก็เดินตามเส้นทางของพระบรมศาสดา กล่าวคือ หลวงพ่อธัมมชโยท่านจะบอกลูก ๆ เสมอว่า ท่านเองก็ยังต้องสร้างบารมี ยังต้องฝึกตัวอยู่ ก็ย่อมจะมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข




     หลวงพ่อทัตตชีโว เคยเล่าให้เจ้าอาวาสที่อเมริกาฟังเมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปร่วมประชุมด้วย เมื่อหลายปีมาแล้วว่า

     “ หลวงพ่อเองขนาดว่าตามหลวงพ่อธัมมะท่านมาสร้างบารมีตั้งแต่ก่อนบวช แต่แม้กระนั้นบางครั้งปัญญาก็ตามท่านไม่ทัน ”

     “ เรื่องเป็นไงครับ หลวงพ่อ ” พระลูกชายพากันถามด้วยความอยากรู้

     หลวงพ่อท่านทำท่านึก แล้วก็ค่อย ๆ เล่าอย่างช้า ๆ ให้พวกเราตามทัน

     “ มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อธัมมะท่านก็สั่งให้หลวงพ่อไปพานักศึกษามาปลูกต้นไม้ ให้หามา.......คน หลวงพ่อก็มานั่งคำนวณ ถ้าหามาตามจำนวนที่ท่านบอก ก็ต้องมีเรื่องที่ต้องทำคือ การจัดรถ การเตรียมอาหาร ไหนจะต้องใช้เวลาเดินทาง ไปกลับ ทำงานได้ก็ไม่เท่าไร หลวงพ่อก็เลยคิดว่า เพื่อความประหยัด ไปหาชาวบ้านแถวนี้มาช่วยปลูกดีกว่า ประหยัดเงินด้วย ได้งานเยอะด้วย ”

     “ อย่างนี้หลวงพ่อธัมมะก็คงชมหลวงพ่อสิครับ ช่วยประหยัดเงินวัด ”



     หลวงพ่อทัตตชีโวท่านหัวเราะแล้วตอบว่า “ นอกจากจะไม่ชมแล้ว โดนหลวงพ่อธัมมะท่านตำหนิด้วย ท่านบอกที่ให้ไปเอานักศึกษามา ก็เพื่อหากิจกรรมให้เขาทำ ให้เขาคุ้นวัด จะได้พากันมาวัดบ่อย ๆ ไม่ใช่มุ่งเอางานเป็นหลัก จะเอาคน ”

     “ หลังจากเหตุการณ์นี้แล้วมีอะไรอีกไหมครับ ที่หลวงพ่อเดาใจหลวงพ่อท่านผิด ”

     “ ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว ทำให้หลวงพ่อระมัดระวัง ขอให้หลวงพ่อท่านสั่ง หลวงพ่อจะต้องมาขบคิดก่อนว่า วัตถุประสงค์จริง ๆ ของท่านคืออะไร คิดให้รอบคอบแล้วค่อยลงมือทำ จึงมักจะไม่พลาด ”



     เพราะอย่างนี้นี่เอง หลายครั้งที่อาตมาอดแปลกใจไม่ได้ว่า ราวกับหลวงพ่อทั้งสองท่านสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องเจอกัน เพราะเวลาที่อาตมาเข้าไปกราบถวายรายงานหลวงพ่อธัมมชโย เมื่อออกมากราบหลวงพ่อทัตตชีโว ท่านจะถามแค่ว่า “ ไปรายงานหลวงพ่อธัมมะเรื่องอะไร ” พอบอกเสร็จ หลวงพ่อทัตตชีโวจะบอกเลยว่า “ หลวงพ่อธัมมะ ให้เอ็งทำยังงี้ ๆ ใช่ไหม ” แล้วท่านก็จะพูดเป็นฉาก ๆ ราวกับว่าท่านอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย



     หลวงพ่อท่านสรุปความให้ว่า 

     “ คนเราเมื่อจะทำงาน อย่ากลัวความผิดพลาด แต่เมื่อผิดพลาดแล้วต้องแก้ไข อย่าหมกเม็ด อย่าปัดให้เป็นความรับผิดชอบของผู้อื่น และอย่าอายในการที่จะบอกข้อผิดพลาดให้ทีมงานได้รับรู้ จะได้ช่วยกันคอยระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก ”





ขอขอบคุณภาพจากgoogle.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๘ ส.ค. ๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น