วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 78 ผู้ไขปัญหา (ตอนที่1)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๘) ผู้ไขปัญหา






หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๘)

ผู้ไขปัญหา


     หากเราจำกันได้ หลวงพ่อท่านเคยย้ำกับเราว่า การจะดูว่าที่ที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ให้เราศึกษาจากเสนาสนสูตร ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชน มีปัจจัยสี่บริบูรณ์ มีพระอาจารย์ดีที่เป็นพหูสูต มีผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าไปหาพระเถระ(หมายถึง ผู้มีศรัทธา มีอาพาธน้อย ไม่ขี้โรค ไม่ขี้โม้โอ้อวด มีปัญญา ไม่โง่) พระเถระตอบแก้ปัญหาได้



     จากเสนาสนสูตรนี้ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มาอยู่กับหลวงพ่อทั้งสอง เพราะท่านมีคุณสมบัติของพระอาจารย์ที่เป็นพหูสูตร สามารถตอบ
และแก้ไขปัญหาให้กับเราได้ ก็มีเพียงเราเองต้องสร้างคุณสมบัติให้เหมาะสมต่อการเข้าไปหาครูบาอาจารย์เท่านั้น


     เมื่อวันก่อนได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหากับหลวงพ่อทัตตชีโว ขอยกเอาบางประเด็นที่คิดว่าจะมีประโยชน์กับพวกเราในการสร้างบารมีมาถ่ายทอดให้อ่านกัน

     “ หลวงพ่อครับ ในสัปปายะ ๔ คือ อาวาส อาหาร บุคคล ธรรมะ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ ”

     “ ธรรมะสิ สำคัญที่สุด ”

     “ แล้วทำไมการเรียงลำดับของสัปปายะ ๔ จึงเอาอาวาสขึ้นก่อนครับ ”

     “ แม้ว่าธรรมะจะสำคัญที่สุด แต่ถามว่า เมื่อคนมาหาเราเขาจะเห็นอะไรก่อน เขาก็เห็นสถานที่ของเราก่อน หากดูแล้ว ผุ ๆ พัง ๆ วัดวาสกปรก ไม่เข้าท่า เขาก็ถอยแล้ว เอาง่าย ๆ เวลาหลวงพ่อให้เอ็งไปดูงานตามที่ต่าง ๆ โบสถ์ฮินดูเอย โบสถ์แก้วเอย เอ็งรู้สึกยังไง ยังไม่ทันรู้เลยว่าเขาสอนอะไร แต่ก็ยอมรับเรื่องสถานที่เขาแล้วใช่ไหมหล่ะ ”


     “ ใช่ครับหลวงพ่อ เห็นตามที่หลวงพ่อว่าเลยครับ ถ้าอย่างนั้น ในการที่จะขยายงาน เราก็ต้องสร้างสถานที่ก่อนสร้างคนใช่ไหมครับ ”

     “ จริง ๆ แล้ว มันต้องทำควบคู่กันไปนะ ดูให้ดีนะ ในช่วงแรกเริ่มต้นพระพุทธองค์ให้อยู่โคนไม้เป็นวัตร เพื่อไม่ต้องสร้างอะไร ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่พอต่อมาเห็นแล้วว่าการจะสร้างทีม การจะทำงานเผยแผ่ มันต้องมีที่พัก จึงยอมให้มีการสร้างอาคาร แล้วอาคารที่จะฝึกคนได้ต้องพักรวมกัน เพื่อจะได้ฝึกทนคน ไม่งั้นทำงานเป็นทีมไม่ได้ นี่คือการอยู่ของนักบวชคือ ต้องอยู่แบบ สังฆะ คือ อยู่เป็นหมู่ เป็นกลุ่ม แล้วที่ต้องทำไป ฝึกคนไป เพราะจะเห็นว่า ควรมีการแก้ไข ปรับปรุงอะไร หากต้องมีการก่อสร้างใหม่ ”


     “ หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องคุณสมบัติของคนนี่ เราจะฝึกให้เขาเป็นคนที่มีลักษณะยังไงหรือครับ ”

     “ เรื่องคุณสมบัติคนนี่ ก็ต้องไปดูที่ฆราวาสธรรมเลย เราต้องการฝึกให้คนของเราเป็น คนจริง อันนี้ชัด คนของเราต้องมีสัจจะ สัจจะตัวนี้มีความหมายหลายอย่างนะ คือ ทั้งจริง ตรง แล้วก็แท้ แล้วจะฝึกยังไง ก็ต้องมีตัววัด

     จะให้ จริง คือ ไม่เล่น ตัววัดก็คือ การทำงาน ทำอะไรก็ต้องทำจริง ๆ จัง ๆ 

     จะให้ ตรง คือ ไม่คด ตัววัดก็คือ การคบคน คบใครแล้วต้องซื่อตรง ไม่คดในข้องอ

     จะให้ แท้ คือ ไม่ปลอม ตัววัดก็คือ ความดี ขึ้นชื่อว่า อะไรที่เป็นความดีแล้วทุ่มเททำเต็มที่ ให้ใครเอาปืนเอามีดมาจ่อคอให้ทำชั่วนี่ ไม่ยอม ตายเป็นตาย นี่แหละแท้หล่ะ ”


     “ หลวงพ่อครับ แล้วเราจะฝึกคนของเราให้มีสัจจะในแง่ของการปฏิบัติอย่างไรครับ ”

     “ ทำไมหลวงพ่อถึงย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องความดีสากล ก็เพราะนี่แหละคือ บทฝึกคนให้มีสัจจะ การจะฝึกคนก็ฝึกผ่านการทำความดีสากลนี่แหละ ในเมื่อทุกคนรักความสะอาด แต่คุณปฏิเสธที่จะจัดการกับความสกปรกที่ออกมาจากตัวคุณ มันก็ใช้ไม่ได้ ”

     “ โดยสรุปแล้ว คนดีก็คือ คนที่รับผิดชอบใช่ไหมครับหลวงพ่อ ”

     หลวงพ่ออมยิ้ม แล้วพูดสั้น ๆว่า “ ก็งั้นสิ ”


     เห็นหรือยังว่า ทำไมอาตมาจึงปลื้มใจในครูบาอาจารย์นัก ไม่เคยมีสักครั้งที่ท่านจะปล่อยให้ลูก ๆ ติดขัดปัญหา ขอเพียงเราเข้าไปหาท่าน แล้วความสงสัยทั้งหลายที่เรามีอยู่ จะหายไปหมดสิ้นเลยทีเดียว








ขอขอบคุณภาพจาก google.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๔ ต.ค. ๕๙

1 ความคิดเห็น: