วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 80 ผู้ไขปัญหา (ตอนที่ ๓)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๘๐)

ผู้ไขปัญหา(ตอนที่ ๓)


     เมื่อธรรมทายาทบวชใหม่ ๆ หลวงพ่อทั้งสองจะตอกย้ำอยู่เสมอเรื่องการศึกษาทั้งภาคปริยัติ และปฏิบัติเพื่อจะได้บรรลุผลคือ ปฏิเวธ


     หลวงพ่อทัตตชีโว จะคอยสอบถามลูก ๆ ว่าอ่านพระไตรปิฎกกันบ้างไหม สำหรับอาตมาก็ขอยอมรับความจริงว่า ก่อนบวชก็เคยเห็นพระไตรปิฎกอยู่ไกล ๆ ในตู้ที่วัดข้างบ้าน เข้าใจว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เลยไม่กล้าไปแตะ


    เมื่อมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายเพิ่งรู้ว่า อ้าว นี่เรื่องสำคัญอยู่ที่นี่นี่นา ยิ่งหลวงพ่อคอยถามอยู่บ่อย ๆ ก็คิดว่าต้องสำคัญแน่ ๆ  แต่กระนั้น ก็เลือกดูว่าอะไรน่าอ่านก่อน แล้วก็พบว่า พระวินัยนี่อ่านแล้วต้องตีความ ไม่สนุก พระอภิธรรมยิ่งเป็นเรื่องยาก แล้วก็สรุปว่า พระสูตรนี่แหละอ่านเพลิน มีเรื่องราวประกอบ 


     จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ไปกราบหลวงพ่อทัตตชีโว จู่ ๆ หลวงพ่อก็ปรารภขึ้นมาเอง ทำเอาอาตมาสะดุ้งไปเลย 

     “ ความผิดพลาดของพวกเราในการศึกษาพระไตรปิฎก คือ เรามักจะเริ่มศึกษากันที่พระสูตร เราพากันมองข้ามพระวินัยไป

     เราปฏิเสธบทฝึกที่จะทำให้เราไปนิพพาน 

     ในพระวินัยนี่แหละที่พุทธองค์ให้บทฝึกไว้ จะเป็นใครมาจากไหน เมื่อออกบวชแล้ว ให้บิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้เป็นวัตร และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า 

     นั่นแหละ บทฝึกเพื่อไปนิพพาน แต่เราไม่ทำ เราอยากออกจากทุกข์ แต่ปฏิเสธวิธีพ้นทุกข์ และจริง ๆ แล้ว พระวินัยทั้งหมด มีแค่ สะอาดกับระเบียบ ”



     หลวงพ่อเล่ามาถึงตรงนี้ จู่ ๆ ท่านก็ถามขึ้นมาว่า 

     “ เอ็งรู้ตัวไหมว่า เริ่มไม่จริง มาตั้งแต่เมื่อไร ”

     พอหลวงพ่อเห็นอาตมาทำหน้างง ๆ ท่านเลยเปลี่ยนคำถามใหม่

     “ เอ็งเริ่มมีเล่ห์เหลี่ยมมาตั้งแต่เมื่อไร ”

     อาตมาหัวเราะ แล้วรีบตอบท่านว่า 

     “ ตั้งแต่จำความได้ก็เริ่มมีเล่ห์เหลี่ยมกับพ่อแม่แล้วครับ ห่วงเล่น เห็นเพื่อนไปวิ่งเล่นที่วัด แม่บอกให้อาบน้ำ ก็รีบเข้าห้องน้ำ เอาน้ำราดขา เอาหัวจุ่มโอ่ง ก็รีบออกมาแล้วครับ ”

     “ เออ คนเรามันก็เป็นพรรค์นั้น อยากสะอาด แต่ก็รังเกียจที่จะขจัดความสกปรกที่ออกมาจากตัวเอง ฉะนั้นหากใครได้พ่อ แม่ดี คอยเคี่ยวเข็นเรื่องนี้มาก ก็พอรอดตัวไป ”


     “ หลวงพ่อครับ แล้วบ้านไหนที่เขามีคนทำความสะอาดให้ เขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้สิครับ ”

     “ ทำไมจะไม่มี ดูให้ดีนะ บ้านไหนที่พ่อแม่เขาฝึกมาดี เห็นใครมาทำความสะอาดให้นี่ ขอบอกขอบใจ แทบจะกราบเขาเลย

     แต่บ้านไหนที่พ่อแม่ฝึกมาไม่ดี ไอ้ลูกนี่แหละ จะเป็นคนที่ชอบดูถูกคน เห็นใครมาทำความสะอาดให้ แทนที่จะขอบคุณเขา กลับดูถูกเขาซะอีกว่า เขาชั้นต่ำ จึงต้องมารับใช้ มาทำความสะอาดให้ ”


     “ หลวงพ่อครับ เกี่ยวกับเรื่องความสะอาดนี่ คุณยายสอนหลวงพ่อยังไงบ้างครับ ”

     “ ยายไม่ได้สอนด้วยคำพูด แต่ยายทำให้ดู หลวงพ่อได้ตัวอย่างจากยายมากมาย แค่การบ้วนน้ำลาย หลวงพ่อยังต้องฝึกกับยาย เวลายายทำอะไรยายจะนึกถึงคนอื่นเสมอ อย่างการบ้วนน้ำลายนี่ ยายบอกมันเป็นของน่ารังเกียจ จึงเอากระดาษชิ้นเล็ก ๆ ทับไว้ เวลาคนที่เขาเอาไปทิ้ง เขาก็ไม่เห็นความน่ารังเกียจนั้น นี่คือ บทฝึกของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ”


      เมื่อหลวงพ่อเล่าถึงตรงนี้ ทำให้อาตมานึกย้อนหลังไปสมัยเป็นนักศึกษาแล้วก็รู้สึกละอายใจ ที่เวลาเข้าเรียนจะต้องไปจองที่นั่ง วางหนังสือไว้ก่อนหรือขึ้นรถเมล์ก็จองที่นั่งให้เพื่อน ไม่สนใจว่าคนอื่น เขาจะมองยังไง

 
     หวังว่าพวกเรานักสร้างบารมีทั้งหลาย คงจะไม่เป็นอย่างนี้นะ เวลาเรามาวัด จอดรถจอดราหรือการขับขี่ เราก็ต้องนึกถึงอกเขาอกเรา ไปสวดมนต์ก็คงไม่ต้องไปจองที่หรือคนเดียวแต่วางของหลายเก้าอี้ อย่าลืมที่หลวงพ่อทัตตชีโวท่านย้ำว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ เป็นบทฝึกให้กับเราทั้งสิ้น






ขอขอบคุณภาพจาก google.com และ dmc.tv
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๘ ต.ค. ๕๙ 

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 79 ผู้ไขปัญหา(ตอนที่ 2)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๙) ผู้ไขปัญหา(ตอนที่ ๒)



หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๙)

ผู้ไขปัญหา(ตอนที่ ๒)


     จากตอนที่แล้ว ได้พูดกันถึงเรื่องของคนดีไว้บางส่วน โดยสรุปว่า คนดีก็คือ คนที่รับผิดชอบ


     บางนัยยะ เราอาจจะเคยได้ยินว่า คนดีที่โลกต้องการ ต้องมีคุณสมบัติคือ ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่โง่ และไม่แล้งน้ำใจ ซึ่งคนที่จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม คือ มีวินัย มีปัญญา และมีกรุณา ซึ่งก็คือ คุณธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเอง



     อาตมาเคยถามหลวงพ่อทัตตชีโวว่า ในเรื่องการจริงต่อความดี ในมุมมองของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่าจะเป็นอย่างไร หลวงพ่อได้เมตตาให้คำแนะนำว่า

     “ คนที่จริงต่อความดีในสายตาของพุทธองค์นั้น ต้องมีลักษณะสำคัญคือ 

     ประการแรก ขอให้รู้ว่าอะไรเป็นความไม่ดี เป็นความเลว จะไม่ทำ ต่อให้เอามีดจ่อคอ เอาปืนจ่อหัว ก็ไม่กลัว ตายเป็นตาย
     ประการต่อมา คือ ขอให้รู้ว่าอะไรเป็นความดี จะทำ ต่อให้ใครเห็นหรือไม่เห็น ใครจะชมหรือไม่ชม ก็ช่าง จะทำ ” 


     “ กราบเรียนถามหลวงพ่อครับ ในเรื่องเกี่ยวกับความดีสากล เรื่องการล้างห้องน้ำ ทำไมหลวงพ่อจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากครับ ”

     “ ความจริงแล้ว ผู้ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากคือ คุณยาย ที่ท่านคอยเช็ดห้องน้ำให้แห้ง เพราะป้องกันอันตรายให้ผู้มาใช้ และผู้ที่ทำให้หลวงพ่อต้องฉุกคิดมาก ก็คือหลวงพ่อธัมมะ ที่ท่านได้บอกพวกเราแหละ ให้คนที่เขามาใช้ต่อจากเราเหมือนเป็นคนแรก ทำให้หลวงพ่อต้องมาตรองดู จึงเห็นว่าคนที่ทำความดีสากลจนเป็นนิสัยแล้ว จะไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง แต่ใจจะขยายไปคิดถึงคนอื่น ”


     “ กราบขอความเมตตาหลวงพ่อยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ หน่อยครับ ”

     “ ก็ถ้าบ้านไหนคนในบ้านเขาฝึกกันมาดี ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลูกหลาน เวลาทำอะไรก็จะคิดถึงกัน เช่น ปู่ย่า ตายาย พอรู้ว่าลูกหลานจะมาเยี่ยม ก็จะล้างห้องน้ำ ขัดห้องน้ำ โดยคิดว่า เออ ทำให้มันสะอาดไว้ ลูกหลานจะได้ใช้ได้สะดวก ไม่ต้องกลัวลื่น 

     หรือฝ่ายลูกหลานพอรู้ว่า ปู่ย่า ตายาย จะมาเยี่ยม ก็รีบล้างห้องน้ำห้องท่า เช็ดพื้นให้แห้ง เพราะกลัวว่า ปู่ย่า ตายาย จะมาลื่น ผู้เฒ่ายิ่งต้องระมัดระวัง คอยดูแลอย่างดีเลย

     ตรงกันข้าม อยู่ด้วยกันแต่ไม่ดูแลเรื่องนี้ให้ดี พระเณร ไม่ล้างห้องน้ำ ไม่เช็ดพื้นให้แห้ง เดี๋ยวเถอะ อุปัชฌาย์ตัวเองนั่นแหละจะลื่นหัวแตก ”



     วันนั้นอาตมาได้กราบเรียนถามหลวงพ่อไปอีกหลายคำถาม แต่ที่จำขึ้นใจคือ สิ่งที่หลวงพ่อได้ตอกย้ำในเรื่องการฝึกตัวเรื่องความดีสากลว่า

     “ จำไว้นะว่า หากเริ่มต้นแค่ของหยาบ ๆ เรายังไม่จริง แล้วคิดจะไปเอาอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นของโคตรจริง อย่าไปหวัง ไม่มีทางหรอก ”





ขอขอบคุณภาพจากgoogle.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๖ ต.ค. ๕๙

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 78 ผู้ไขปัญหา (ตอนที่1)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๘) ผู้ไขปัญหา






หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๘)

ผู้ไขปัญหา


     หากเราจำกันได้ หลวงพ่อท่านเคยย้ำกับเราว่า การจะดูว่าที่ที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ให้เราศึกษาจากเสนาสนสูตร ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชน มีปัจจัยสี่บริบูรณ์ มีพระอาจารย์ดีที่เป็นพหูสูต มีผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าไปหาพระเถระ(หมายถึง ผู้มีศรัทธา มีอาพาธน้อย ไม่ขี้โรค ไม่ขี้โม้โอ้อวด มีปัญญา ไม่โง่) พระเถระตอบแก้ปัญหาได้



     จากเสนาสนสูตรนี้ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มาอยู่กับหลวงพ่อทั้งสอง เพราะท่านมีคุณสมบัติของพระอาจารย์ที่เป็นพหูสูตร สามารถตอบ
และแก้ไขปัญหาให้กับเราได้ ก็มีเพียงเราเองต้องสร้างคุณสมบัติให้เหมาะสมต่อการเข้าไปหาครูบาอาจารย์เท่านั้น


     เมื่อวันก่อนได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหากับหลวงพ่อทัตตชีโว ขอยกเอาบางประเด็นที่คิดว่าจะมีประโยชน์กับพวกเราในการสร้างบารมีมาถ่ายทอดให้อ่านกัน

     “ หลวงพ่อครับ ในสัปปายะ ๔ คือ อาวาส อาหาร บุคคล ธรรมะ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ ”

     “ ธรรมะสิ สำคัญที่สุด ”

     “ แล้วทำไมการเรียงลำดับของสัปปายะ ๔ จึงเอาอาวาสขึ้นก่อนครับ ”

     “ แม้ว่าธรรมะจะสำคัญที่สุด แต่ถามว่า เมื่อคนมาหาเราเขาจะเห็นอะไรก่อน เขาก็เห็นสถานที่ของเราก่อน หากดูแล้ว ผุ ๆ พัง ๆ วัดวาสกปรก ไม่เข้าท่า เขาก็ถอยแล้ว เอาง่าย ๆ เวลาหลวงพ่อให้เอ็งไปดูงานตามที่ต่าง ๆ โบสถ์ฮินดูเอย โบสถ์แก้วเอย เอ็งรู้สึกยังไง ยังไม่ทันรู้เลยว่าเขาสอนอะไร แต่ก็ยอมรับเรื่องสถานที่เขาแล้วใช่ไหมหล่ะ ”


     “ ใช่ครับหลวงพ่อ เห็นตามที่หลวงพ่อว่าเลยครับ ถ้าอย่างนั้น ในการที่จะขยายงาน เราก็ต้องสร้างสถานที่ก่อนสร้างคนใช่ไหมครับ ”

     “ จริง ๆ แล้ว มันต้องทำควบคู่กันไปนะ ดูให้ดีนะ ในช่วงแรกเริ่มต้นพระพุทธองค์ให้อยู่โคนไม้เป็นวัตร เพื่อไม่ต้องสร้างอะไร ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่พอต่อมาเห็นแล้วว่าการจะสร้างทีม การจะทำงานเผยแผ่ มันต้องมีที่พัก จึงยอมให้มีการสร้างอาคาร แล้วอาคารที่จะฝึกคนได้ต้องพักรวมกัน เพื่อจะได้ฝึกทนคน ไม่งั้นทำงานเป็นทีมไม่ได้ นี่คือการอยู่ของนักบวชคือ ต้องอยู่แบบ สังฆะ คือ อยู่เป็นหมู่ เป็นกลุ่ม แล้วที่ต้องทำไป ฝึกคนไป เพราะจะเห็นว่า ควรมีการแก้ไข ปรับปรุงอะไร หากต้องมีการก่อสร้างใหม่ ”


     “ หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องคุณสมบัติของคนนี่ เราจะฝึกให้เขาเป็นคนที่มีลักษณะยังไงหรือครับ ”

     “ เรื่องคุณสมบัติคนนี่ ก็ต้องไปดูที่ฆราวาสธรรมเลย เราต้องการฝึกให้คนของเราเป็น คนจริง อันนี้ชัด คนของเราต้องมีสัจจะ สัจจะตัวนี้มีความหมายหลายอย่างนะ คือ ทั้งจริง ตรง แล้วก็แท้ แล้วจะฝึกยังไง ก็ต้องมีตัววัด

     จะให้ จริง คือ ไม่เล่น ตัววัดก็คือ การทำงาน ทำอะไรก็ต้องทำจริง ๆ จัง ๆ 

     จะให้ ตรง คือ ไม่คด ตัววัดก็คือ การคบคน คบใครแล้วต้องซื่อตรง ไม่คดในข้องอ

     จะให้ แท้ คือ ไม่ปลอม ตัววัดก็คือ ความดี ขึ้นชื่อว่า อะไรที่เป็นความดีแล้วทุ่มเททำเต็มที่ ให้ใครเอาปืนเอามีดมาจ่อคอให้ทำชั่วนี่ ไม่ยอม ตายเป็นตาย นี่แหละแท้หล่ะ ”


     “ หลวงพ่อครับ แล้วเราจะฝึกคนของเราให้มีสัจจะในแง่ของการปฏิบัติอย่างไรครับ ”

     “ ทำไมหลวงพ่อถึงย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องความดีสากล ก็เพราะนี่แหละคือ บทฝึกคนให้มีสัจจะ การจะฝึกคนก็ฝึกผ่านการทำความดีสากลนี่แหละ ในเมื่อทุกคนรักความสะอาด แต่คุณปฏิเสธที่จะจัดการกับความสกปรกที่ออกมาจากตัวคุณ มันก็ใช้ไม่ได้ ”

     “ โดยสรุปแล้ว คนดีก็คือ คนที่รับผิดชอบใช่ไหมครับหลวงพ่อ ”

     หลวงพ่ออมยิ้ม แล้วพูดสั้น ๆว่า “ ก็งั้นสิ ”


     เห็นหรือยังว่า ทำไมอาตมาจึงปลื้มใจในครูบาอาจารย์นัก ไม่เคยมีสักครั้งที่ท่านจะปล่อยให้ลูก ๆ ติดขัดปัญหา ขอเพียงเราเข้าไปหาท่าน แล้วความสงสัยทั้งหลายที่เรามีอยู่ จะหายไปหมดสิ้นเลยทีเดียว








ขอขอบคุณภาพจาก google.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๔ ต.ค. ๕๙

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 77 (ทำอย่างไรจะไม่ให้มีทิฏฐิมานะ)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๗) ทำอย่างไรจะไม่ให้มีทิฏฐิมานะ



หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๗)

ทำอย่างไรจะไม่ให้มีทิฏฐิมานะ


     ในการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนที่มาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน ย่อมจะหลีกเลี่ยงการมีความเห็นที่ขัดแย้งกันไม่ได้ หากมีความเห็นต่างเกิดขึ้นแล้วมีการยอมกัน เรื่องก็คงจะสงบ แต่หากดื้อดึงจะเอาชนะกัน เรื่องคงจะไม่จบง่าย ๆ


     บางครั้งแม้มีผู้ที่ปรารถนาดี มาชี้ขุมทรัพย์ให้ แต่ด้วยทิฏฐิมานะหรือความถือตัว ก็อาจจะทำให้เราไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ขัดอกขัดใจได้


     หลวงพ่อทั้งสอง เป็นต้นแบบของผู้ที่รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น หลายครั้งที่ท่านให้โอกาสพวกเราในการแสดงความเห็น แล้วท่านยอมตามความเห็นของพวกเรา แม้ภายหลังก็ต้องกลับมาใช้วิธีการของท่าน

     “ หากเป็นเรื่องงานหยาบที่ดูแล้ว เมื่อผิดพลาดก็แก้ไขได้ หลวงพ่อก็จะยอมตามหมู่คณะ แม้ในที่สุดจะกลับมาใช้วิธีของหลวงพ่อก็ตาม แต่หากเป็นงานละเอียด เป็นเรื่องของวิชชา อันนี้หลวงพ่อยอมไม่ได้ ”

     นั่นคือ แนวทางที่ชัดเจนของหลวงพ่อธัมมชโย


     สำหรับหลวงพ่อทัตตชีโวนั้น อาตมาได้เคยกราบเรียนถามท่านว่า

     “ หลวงพ่อมีวิธีฝึกตัวอย่างไรครับ จึงทำให้หลวงพ่อยอมรับฟังความเห็นของลูก ๆ ทั้งที่โดยสถานะของหลวงพ่อ สามารถที่จะสั่งให้ลูก ๆ ทำอะไรก็ได้ ผมเองยังเคยค้าน ไม่เห็นด้วยกับหลวงพ่อ ก็ไม่เห็นหลวงพ่อจะแสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด ”

     หลวงพ่อท่านหัวเราะ แล้วพูดว่า

     “ หลวงพ่อได้ครูดี หลวงพ่อไม่เคยเห็นยายทะเลาะกับใคร ไม่เคยเห็นยายมีปากเสียงกับใคร ท่านมีแต่นิ่ง หรือหากจะดูในสมัยพุทธกาลนะ ไปศึกษาเรื่องพระสารีบุตรให้ดี ท่านไปไหนก็ตาม ระมัดระวังตัวเองตลอด ไม่มีความถือตัวว่า ท่านเป็นถึงอัครสาวกเบื้องขวา 
     แต่พอมีใครกล่าวตู่ว่าท่านไม่เห็นหัวเขา เดินให้ชายจีวรโดนเขาได้ ท่านบอกเลยว่า ท่านทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน ใครจะทิ้งของเสีย ของหอม ของเหม็น แผ่นดินก็ไม่รู้สึกอึดอัดอะไร หรือทำเหมือนโคเขาขาด ไปไหนก็สงบเสงี่ยม ก็เขามันไม่มีแล้วจะไปกร่างกะใครเขาได้ ”


     ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ ๑๑ ต.ค. อาตมา
กับพระอีกรูปหนึ่งได้ไปกราบเรียนถามธรรมะ ท่านได้ตั้งคำถามกับหลวงพ่อว่า

     “ หลวงพ่อครับ ในจำนวนพระที่อยู่ด้วยกันก็มีทั้งผู้ที่มีอายุมาก แต่เพิ่งมาบวช บางครั้งก็ไม่รู้จะบอกกันอย่างไร เพราะท่านก็เคยประสบความสำเร็จทางโลกมาแล้ว ก็มีความภูมิใจ ความถือตัวอยู่ ทำอย่างไรจะมีแนวทางในการลดทิฏฐิมานะได้ครับ ”

     “ ตัวอย่างที่ดีมากเลย คือ พระสารีบุตรนะ พระสารีบุตรนี่ ขนาดเณรเตือนท่านเลยนะ ท่านยังยอมแก้ไข ”

     เนื่องจากอาตมาไม่เคยเจอเรื่องนี้จึงรีบถามหลวงพ่อว่าเรื่องนี้อยู่ที่ไหน ทำให้เห็นคุณธรรมของหลวงพ่อ ในความเป็นครู


     จากเดิมที่หลวงพ่อนั่งที่เก้าอี้ ท่านรีบนั่งลงกับพื้น ค้นแฟ้มข้างโต๊ะทำงาน ทำให้อาตมาต้องรีบเข้าไปนั่งใกล้ แล้วท่านก็ส่งแฟ้มมาให้ 

     “ มันแก่แล้วชักจะลืม ถ้าเป็นเมื่อก่อน ถามว่าอยู่ตรงไหน หลวงพ่อบอกได้ทันที แต่เดี๋ยวนี้ ต้องให้ดูจากเอกสารนี่แหละ แล้วไปค้นดูรายละเอียดจากพระสูตรดูนะ 


     นี่แหละดูไว้ พระอัครสาวกเบื้องขวานะ แต่ไม่ได้มีความถือตัวเลย เณรน้อยอายุแค่ ๗ ขวบ บอกท่าน แล้วท่านเห็นประโยชน์ รีบไปแก้ไข แล้วมาขอบคุณด้วย ”


     ในฐานะของนักสร้างบารมีที่รักการฝึกตัว เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากพระสารีบุตรแล้ว เห็นตัวอย่างจากหลวงพ่อของเราแล้ว ดังนั้นทิฏฐิมานะใดก็ตามที่จะทำให้การสร้างบารมีของเราเนิ่นช้า ก็ให้รีบแก้ไขโดยเร็ว เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์กับตนเองแล้ว ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อหมู่คณะอีกด้วย




ขอขอบคุณภาพจากgoogle.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๓ ต.ค. ๕๙ 

หลวงพ่อสอนอะไร ตอน 76 (ต้นแบบแห่งความเสียสละ)

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๖) ต้นแบบแห่งความเสียสละ



หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๗๖)

ต้นแบบแห่งความเสียสละ


“ เสียสละ ” คำนี้เป็นคำที่มีคุณค่ายิ่งนัก

     เพราะการเสียสละของพระโพธิสัตว์ จึงทำให้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราได้กราบไหว้

     เพราะการเสียสละของหลวงปู่วัดปากน้ำ จึงทำให้เราได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย

     เพราะการเสียสละของคุณยาย จึงทำให้เกิดวัดพระธรรมกาย

     เพราะการเสียสละของหลวงพ่อทั้งสอง จึงทำให้มีพวกเราในทุกวันนี้


     คุณสมบัติเด่นของครูบาอาจารย์ของเราทั้งหลวงปู่ หลวงพ่อ และคุณยายอาจารย์ คือ การรักการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะมีภารกิจมากมายเพียงไหน การปฏิบัติธรรมจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ


     หลวงพ่อทัตตชีโว เคยเล่าให้ลูก ๆ ฟังว่า 

     “ หลังจากที่บวชแล้ว หลวงพ่อก็อยากเดินธุดงค์ อยากหาเวลาหยุดนิ่ง หาความสงบให้ตนเอง ก็เลยไปเรียนคุณยายอาจารย์ คุณยายท่านก็บอก เอาสิ แต่ถึงไปเดินธุดงค์ยังไง สุดท้ายก็ต้องอยู่วัด แล้วมาอยู่วัดตอนบั้นปลายชีวิต ก็จะมีอยู่ ๒ แบบนะ 

     ๑. ไปอาศัยอยู่วัดที่เขาสร้างไว้แล้ว

     ๒. สร้างวัดของตัวเองให้เสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยไปเดินธุดงค์

     ก็ให้เลือกเอาก็แล้วกันว่า จะไปอาศัยเขาอยู่หรือจะเอาที่เราสร้างไว้เอง ”

     เมื่อคุณยายให้ข้อคิดเช่นนี้ หลวงพ่อทัตตชีโว เลยตัดสินใจว่า จะสร้างวัดของตัวเองให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แต่กระนั้นสิ่งที่อยู่ในใจของท่านตลอดมาก็คือ จะวางมือให้คนรุ่นหลังได้ทำต่อบ้าง


     ในช่วงที่อาตมาบวชได้ไม่กี่พรรษานั้นจะได้ยินหลวงพ่อปรารภบ่อย ๆ ว่า หลวงพ่อจะวางมือ ขอนั่งหลับตาแล้ว แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๕๓๒ งานที่วัดกลับดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด หลวงพ่อท่านก็ถอนหายใจ ปรารภว่า 

     “ ชีวิตหลวงพ่อมันคงเหมือนไอ้จูล่ง ต้องรบบนหลังม้า จนแก่เฒ่าโน่นแหละ ”

     แล้วก็เป็นดังที่ท่านคาดการณ์ไว้ ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจว่า


     จากวันนั้นถึงวันนี้ ภาระงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น หลวงพ่อทัตตชีโวก็ยังคงทำงานอย่างหนัก กว่าจะพักได้ก็หลังเที่ยงคืน


     หลวงพ่อได้เคยกล่าวถึงหลวงพ่อธัมมชโยว่า 

     “ หลวงพ่อเป็นรองเจ้าอาวาส งานยังขนาดนี้ แล้วเจ้าอาวาสจะขนาดไหน องค์นั้นยิ่งพักน้อยกว่าหลวงพ่อ และตั้งแต่รู้จักกันมา ไม่เคยเห็นท่านคิดทำอะไรเพื่อตัวเองเลย ”


     เพราะความตระหนักในความทุ่มเทและเสียสละของหลวงพ่อทั้งสองเช่นนี้ จึงทำให้ลูก ๆ ทุกคน รัก เคารพ และพร้อมจะสร้างบารมีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ติดตามหลวงพ่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม





ขอขอบคุณภาพจาก google.com
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๒ ต.ค. ๕๙